Open letter # 3 to Deputy Prime Minister Major General Sanan Kajornprasart, who oversees the Thailand Convention and Exhibition Bureau’s operations
ฯพณฯ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์
รองนายกรัฐมนตรี
14 กรกฎาคม 2553
เรื่อง ขอยกเว้นภาษีไวน์และอาหารที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อแสดงและชิมในงานไวน์เทรดแฟร์
เรียน ฯพณฯ พล.ต. สนั่น ที่นับถือ
บริษัท แบงค็อก อินเตอร์เนชั่นแนล ไวน์ แฟร์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นโดยบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อดำเนินการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติประเภทไวน์ อาหารหรู และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไวน์
โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
1. ยกระดับให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการค้าไวน์และอาหารหรูในภูมิภาคอาเซียน
2. ลดการนำเข้าและค้าไวน์ที่ผิดกฏหมาย และยกระดับการค้าไวน์ในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล
3. โปรโมทไทยไวน์และการท่องเที่ยวไร่ไวน์ในประเทศ ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน
4. ยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองวัฒนธรรมอาหารหรูแห่งเอเชีย “Culinary City of Asia”
5. โปรโมทการท่องเที่ยวไปยังกลุ่มนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง (ผู้ผลิตไวน์ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงมีฐานะเป็นเศรษฐีและมหาเศรษฐี นักธุรกิจด้านอาหารและไวน์ทั้งจากประเทศผู้ผลิตไวน์และในอาเซียน มีไลฟ์สไตล์การบริโภคที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ)
6. โปรโมทและยกระดับอาหารไทยให้เป็น “ฟายน์ ควิซิน” (fine cuisine) และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ สมุนไพรไทย รวมทั้งสินค้าอาหารอื่นๆ ที่ผลิตในประเทศไทยได้เป็นที่รู้จักในประเทศที่ผลิตไวน์ทั่วโลก
บริษัทฯ เปิดตัวงาน “แบงค็อก อินเตอร์เนชั่นแนล ไวน์ แฟร์” (Bangkok International Wine Fair) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 และได้ทำประชาสัมพันธ์ไปยังประเทศที่ผลิตอาหารและไวน์ทั่วโลกว่าจะมีการจัดงานอินเตอร์เนชั่นแนลไวน์เทรดแฟร์ ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2553 ณ. รอยัล พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ผู้บริหารบริษัทฯ ได้เดินทางไปทำโรดโชว์ในงานไวน์แฟร์ในต่างประเทศ และไปเยือนประเทศผลิตไวน์หลายครั้ง เพื่อเชิญชวนให้ผู้ผลิตไวน์และอาหารหรูส่งสินค้า และเดินทางมาแสดงสินค้าและชมงานในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว โดยได้รับความสนใจและตอบรับจากนักธุรกิจในกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก
ในขณะเดียวกันทางบริษัทฯ ได้เสนองาน “แบงค็อก อินเตอร์เนชั่นแนล ไวน์ แฟร์” ต่อสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน) เพื่อช่วยประสานงานและสนับสนุนให้งานนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง (จดหมายขอยกเว้นภาษีไวน์เพื่อการแสดงสินค้าในปริมาณจำกัด) กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เพื่อขอความช่วยเหลือในการยกเว้นภาษีไวน์และสินค้าที่จะนำเข้ามาแสดง
โดยปกติประเทศไทยคิดภาษีนำเข้าไวน์ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และภาษีสรรพสามิตเพิ่มอีก 300 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุให้ผู้ผลิตไวน์และบุคคลากรในแวดวงธุรกิจไวน์ทั่วโลก (ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ล้านคนทั่วโลก) ไม่สนใจเดินทางมาเยือนประเทศไทย
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตไวน์ในต่างประเทศที่ยังไม่เคยส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ใช้บริโภค คือ อาหารและไวน์ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “perishable goods” ซึ่งเมื่อเปิดชิมแล้ว หากเหลือก็จะเสีย ไม่มีมูลค่าทางการค้า ไม่สามารถส่งกลับได้ แต่จะต้องเสียภาษีสูงถึง 400 เปอร์เซ็นต์
ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะงานแสดงสินค้านานาชาติประเภทต่างๆ และเป็นประเทศที่จัดงานแสดงสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยปกติการจัดเก็บภาษีสินค้าทุกชนิดของสิงคโปร์จะต่ำกว่าประเทศไทย แต่สิงคโปร์ก็ประกาศให้มีการยกเว้นการเก็บภาษีไวน์ที่จะนำเข้ามาเพื่อการแสดงและชิมในงานแสดงสินค้านานาชาติได้ (ตามเอกสารที่แนบมา)
ในการดำเนินการจัดงานครั้งนี้ บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะจัดงานไวน์เทรดแฟร์นานาชาติได้สูงกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนทุกประเทศ และหากบริษัทฯ สามารถจัดงานนี้ได้สำเร็จ ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวข้างต้น และโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าไวน์และได้รับการยอมรับให้เป็นเมืองวัฒนธรรมแห่งอาหารหรูของเอเชียก็น่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหารหรูเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีบุคลากรในภาคส่วนนี้นับล้านคน
แต่เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ผ่านมา เป็นเหตุให้งาน “แบงค็อก อินเตอร์ เนชั่นแนล ไวน์ แฟร์” ได้รับผลกระทบมากมาย อีกทั้งการดำเนินการที่ล่าช้าและขาดความเข้าใจจากหน่วยงานของรัฐ ข้อจำกัดที่เกิดจากการบังคับใช้กฏหมาย และการนำมาปฎิบัติที่ไม่สอดคล้องและเอื้อประโยชน์ให้การจัดงานไวน์เทรดแฟร์นานาชาติได้สําเร็จ บริษัทฯ เกรงว่าจะเกิดความล่าช้ามากขึ้น และนำความเสียหายมาสู่การจัดงานที่สำคัญ จนเป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่สามารถจัดงานได้
บริษัทฯ จึงใคร่ขอเรียนมาเพื่อ ฯพณฯ โปรดพิจารณาหาช่องทาง ช่วยเหลือในการดำเนินการขอยกเว้นภาษีไวน์ อาหาร และผลิตภัณฑ์ประชาสัมพันธ์ (โบรชัวร์ เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า) ที่จะนําเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการแสดง และชิมในปริมาณที่จํากัด เพื่อบริษัทฯ จะนำไปใช้จูงใจและสร้างความสนใจแก่เจ้าของสินค้า เพื่อจัดส่งสินค้ามาแสดงและเดินทางมาร่วมงาน “แบงค็อก อินเตอร์เนชั่นแนล ไวน์ แฟร์” ในประเทศไทยในครั้งนี้และในโอกาสต่อๆ ไป
ขอแสดงความนับถือ
นายโจ ศรีวารินทร์
กรรมการผู้จัดการ
Joe Sriwarin
Managing Director
Bangkok International Wine Fair